พระราชบัญญัติ
การกลับเป็นผู้ประกันตน
พ.ศ. ๒๕๕๔
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกลับเป็นผู้ประกันตน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดัง
ต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ๒๕๕๔”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ผู้ประกันตน” หมายความว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๗
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดหรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา แล้วแต่กรณี
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
มาตรา ๔ ผู้ประกันตนซึ่งความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงตามมาตรา ๔๑ (๔) หรือ (๕) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๗ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากมีความประสงค์จะกลับเป็นผู้ประกันตนให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่เลขาธิการกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๕ เมื่อสำนักงานได้รับคำขอตามมาตรา ๔ ให้ดำเนินการตรวจสอบคำขอและในกรณีที่เห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีสิทธิกลับเป็นผู้ประกันตนให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในเจ็ดวัน
ในกรณีที่เห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่มีสิทธิกลับเป็นผู้ประกันตน ให้สำนักงานเสนอรายงานพร้อมเหตุผลต่อเลขาธิการเพื่อพิจารณาและมีคำสั่ง และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในสิบห้าวันคำสั่งเลขาธิการนั้นให้เป็นที่สุด
มาตรา ๖ การกลับเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง ให้เริ่มตั้งแต่เดือนที่ยื่นคำขอและให้ผู้ประกันตนมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๗ จำนวนมากไม่ได้ส่งเงินสมทบตามมาตรา ๔๑ (๔) หรือ (๕) ทำให้ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมและไม่อาจกลับเป็นผู้ประกันตนได้อีกเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่บุคคลดังกล่าวในการขอกลับเป็นผู้ประกันตนได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น